ปิดกล้อง ปิดไมค์ ปิดใจ
- Klangjai
- Jun 7, 2024
- 1 min read

เมื่อผู้เรียนปิดกล้อง ปิดไมค์
เชื่อว่าพวกเราล้วน suffer กับปัญหาคุณภาพของการสื่อสารผ่าน Virtual meeting tools ต่างๆไม่มากก็น้อย “ผู้เรียนปิดกล้อง ปิดไมค์ จะให้ทำอย่างไร” เป็นหนึ่งในถามที่มักได้ยินบ่อยๆจากผู้สอนยุคโควิดที่สร้างความรู้สึกท้อแท้และบั่นทอนความมั่นใจในความพยายามจะสื่อสาร
ทำไมผู้เรียนถึงปิดกล้อง ปิดไมค์
เคยต้องเข้าประชุม Online แล้วปิดกล้องปิดไมค์ไหมคะ? ถ้าลองถามตัวเราเองกับเพื่อนๆ ดูว่าทำไมเราถึงทำอย่างนั้น อาจจะได้คำตอบที่หลากหลายมาก เช่น
“เพราะมันทำได้” มันมีปุ่มให้ปิดได้แล้วถ้าจะให้เลือกระหว่างเปิดกับปิด สะดวกปิดมากกว่า (ถ้าไปเจอกันในห้องประชุมทำแบบนี้ไม่ได้ไง)
“ไม่สะดวก” เหตุผลนี้มีทั้งจริงและโกหก บางท่านก็ไม่สะดวกจริงๆ มีเด็กร้องไห้ หรือต้องประชุมจาก shared space ที่มีเสียงดัง บางท่านไม่ได้มีปัญหาเหล่านั้นเลยแต่กลัวจะแรงไปถ้าตอบว่าจริงๆแล้ว “ไม่อยากเปิด”
“ก็คนอื่นยังปิดเลย” ถ้าคนอื่นเปิดฉันก็เปิดก็ได้ แต่ฉันไม่เปิดก่อนนะ (เดี๋ยวเสียเปรียบ)
“เบื่อ เซ็ง” อันนี้เกิดบ่อยมากกับ meeting ที่ไม่อยากเข้า รู้สึกว่าตัวเราไม่เกี่ยวด้วย ทำไมต้องมาอยู่ตรงนี้ เลยมาแบบไม่เต็มใจ หรือไม่ก็เบื่อหน้าผู้พูด ประมาณว่าทำไมคนนี้อีกละ Blah blah blah — (ส่งสัญญาณด้วยการปิดกล้อง)
“ประชุมแย่ๆ” Oh this meeting so long and aimless การประชุมนี้มันช่างยาวนาน แล้วไม่ได้อะไรจริงๆ เสียเวลาชีวิตมากที่ต้องมาเข้า
“ทำงานอื่น” ต้องประชุมสองหู เราเป็นคนแยกประสาทได้ไง แล้วเนี่ยก็มีรายงานโครงการต้องทำ Papers ต้องตรวจ และอีกเยอะแยะที่สำคัญกว่านี้
“ไม่ชอบ” รู้สึกว่ามีคนมาจ้องหน้าเราตลอดเวลา แบบอยากแลบลิ้น อ้าปาก ทำหน้าแปลกๆบ้าง ถ้าเปิดกล้องก็ทำไม่ได้ไง อีกอย่างนึงก็อาย ไม่อยาก show หน้าตัวเอง (ไม่มั่นใจในหน้าสดและชุดที่ใส่)
“ฉันไม่พูด ฉันไม่พอใจ” บางคนใช้เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือประชดเพื่อนร่วมงานเพื่อบอกว่าตัวเองไม่พอใจอะไรบางอย่าง แสดงออกให้เห็นเป็นเชิงสัญลักษณ์ ให้เราผู้ insensitive ทั้งหลายเดาเอาเองว่าเธองอนละ
“เน็ตไม่แรง” ประหยัด Bandwidth ด้วยการปิดกล้อง ถ้าเปิดกล้องแล้วบางทีเวลาพูดจะกระตุก ถึงแม้บางทีจะไม่กระตุกเราก็ปิด ปิดแล้วปิดเลย :)
เชื่อว่ามีเหตุผล (ที่น่าเชื่อถือ) อีกมากมายที่พวกเราอาจจะมีแต่ไม่ได้ถูกเขียนอยู่ในนี้ ในทางกลับกัน แล้วทำอย่างไรคนจะเปิดกล้อง? (แบบไม่ได้บังคับหรือต้องขู่ว่าจะหักคะแนน!) คำตอบที่ได้ดูไม่ค่อยเกี่ยวกับเหตุผลข้างบนเท่าไหร่ แต่ถ้าคิดให้ดีจะเห็นได้ว่าคนจะเปิดกล้องก็ต่อเมื่อพวกเขารู้สึก connected เห็นความสำคัญ ได้รับการยอมรับ หรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารนั้นๆ ถ้าเราทำให้พวกเขารู้สึกอย่างนั้นไม่ได้ แน่นอนพวกเขาก็ไม่เปิดแน่ๆ
ทำอย่างไรถึงจะสร้าง Culture ของการเปิดกล้องในห้องเรียนและที่ทำงาน
1- สร้าง Personal connections กับผู้เรียน การเริ่มการเรียนการสอนครั้งแรกใน Zoom หรือ MS Team เป็นสิ่งที่ยากทั้งกับพวกเราและผู้เรียนในการได้ทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยเบื้องต้นให้เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับผู้เรียนเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของความเชื่อใจและความรู้สึกปลอดภัยในการมีส่วนร่วมซึ่งเราสามารถสร้างให้เกิดได้ด้วย การทักทาย ชวนคุย เล่นเกม หรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้เรารู้จักผู้เรียนและพวกเขาได้รู้จักกันมากขึ้น อย่าลืมว่า Connections ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เรียนกันเองก็สำคัญไม่แพ้ Connections ระหว่างเราและผู้เรียน การที่พวกเขาไม่ได้มาพบปะ เจอกัน ทานข้าวด้วยกันที่มหาวิทยาลัยส่งผลกับระดับความเชื่อใจและความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมของผู้เรียนทั้งสิ้น
2- Set a stage ตั้งแต่ต้นโดยอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจว่าอะไรคือ Expectations และ Best practice ของการเข้าร่วม เช่น การใช้ Laptop หรือ Work station แทนการใช้โทรศัพท์มือถือ การ setup environment ที่เหมาะสม การสร้างการมีส่วนร่วมโดยการเปิดกล้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น โดยต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่าการ Encourage และให้ความเคารพผู้พูดที่เปิดกล้องอยู่เป็นสิ่งที่เราให้คุณค่าใน Class นี้ และการที่คนส่วนมากไม่เปิดกล้องส่งผลอย่างไรต่อบรรยากาศและประสิทธิภาพของการสื่อสาร ในกรณีที่ไม่สะดวกจริงๆ เราอาจจะให้ผู้เรียน Direct massage มาบอกเป็น Case by case ไป
3- สร้างให้เกิดเหตุผลในการเปิดกล้องและโครงสร้างของการมีส่วนร่วมโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมผ่าน Engagement tools, chat tools, หรือที่ดีกว่านั้นคือการกำหนดบทบาทให้ผู้เรียน “ได้พูด” อธิบาย แสดงความคิดเห็น หรือทำงานในกลุ่มย่อยๆผ่าน Feature Breakout Room เพื่อดึงความสนใจให้อยู่กับ Class หรือการประชุม การที่ผู้เข้าร่วมได้ Contribute โดยการนำเสนอ แสดงความเห็น หรือสนทนากันนี้จะช่วยสร้างให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและส่งผลดีกับ Collaborative culture อีกด้วย
4- ให้คุณค่ากับเวลาโดยการทำให้ Online meeting สั้นและมีประสิทธิภาพ เช่น สร้างเป้าหมายของการคุยกันให้ชัดเจนว่าวันนี้อยากจะได้อะไรจาก Meeting นี้และจะทำอย่างไรให้เราไปถึงเป้าหมายให้เร็วที่สุด หรือการอัดเนื้อหาที่จำเป็นต้องอธิบายยาวๆไว้ใน Video clips สั้นๆ เพื่อให้ผู้เรียนไปดูมาก่อนที่จะมาสนทนากันว่าไม่เข้าใจตรงไหน การเตือนให้ผู้เรียนเตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อการสนทนาที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
5- สร้างการเปิดกล้องให้เป็นเรื่องสนุก เช่น อนุญาตให้ผู้เรียนใช้ Filters ต่างๆเพื่ออำพรางความเขิน หรือสร้าง Theme ให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม
ข้อควรระวัง
1- พยายามอย่าบังคับหรือขู่ผู้เรียนด้วยการตัดคะแนน การบังคับยังส่งผลในทางลบกับ Culture ของความเชื่อใจและพื้นที่ปลอดภัยของผู้เรียน เราจะรู้เองว่าเราสร้าง Culture นี้ได้สำเร็จเมื่อผู้เรียนตัดสินใจเปิดกล้องด้วยตนเองเพื่อพวกเราจะได้พบหน้ากันและใช้ Non-verbal communication เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
2- ความรู้สึกปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้เรียน ถ้าพวกเขารู้สึกว่าการเปิดกล้องแล้วตอบคำถามผิดๆ หรือการแสดงออกว่าพวกเขายังไม่เข้าใจเป็นสิ่งน่าอาย พวกเขาจะไม่เปิดกล้องอีกเลย ฉะนั้นการ Encourage participations สร้างให้เกิดการยอมรับการที่ผู้เรียนยังทำไม่ได้ หรือยังไม่เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เราให้คุณค่า เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างให้เกิด ผ่านทั้งคำพูด สีหน้าและการกระทำที่เกิดทั้งในและนอก Meetings นั้นๆ
3- การยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายของผู้เรียน ผู้เรียนบางคนจำเป็นต้องเข้าเรียนจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ถ้าเราทราบถึงเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงเปิดกล้องไม่ได้จะทำให้เข้าใจและคาดหวังได้เหมาะสม
Comments